top of page
รูปภาพนักเขียนBaramizi

การสร้างแบรนด์หน่วยงานรัฐ (Government Branding)

🧬 กรณีศึกษาการสร้าง Brand Superfans ของหน่วยงานรัฐ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) Synchrotron Thailand Central Lab


บทความวันนี้มาคุยเรื่องการสร้างแบรนด์ของหน่วยงานรัฐ (Government Branding)

ว่าสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของผมและทีมงานใน Baramizi

📍ทำไมหน่วยงานรัฐต้องสร้างแบรนด์ ?

แบรนด์ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์, โลโก้ หรือการทำแค่ประชาสัมพันธ์ !!

ส่วนมากเราจะคิดว่าการสร้างแบรนด์ใช้เฉพาะธุรกิจที่ต้องมีการขายสินค้า หรือบริการเท่านั้น แต่ถ้าเราเข้าใจศาสตร์การสร้างแบรนด์อย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์คือการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าใจแบรนด์เรา รู้สึกผูกพันกับแบรนด์เรา รู้ว่าจะใช้แบรนด์เราในโอกาสใดได้บ้าง ดังนั้นถ้าเราเข้าใจนิยามนี้ แบรนด์หน่วยงานรัฐนั้นใช้ภาษีประชาชนจำนวนมากและมีมากมายจนเราแทบจำไม่ได้ว่า แต่ละหน่วยงานมีไว้ทำอะไร ? มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายใด ? การที่หน่วยงานรัฐที่ใช้ภาษีประชาชนไปนั้นไม่สามารถสื่อสารให้คนภายในและภายนอกเข้าใจได้ว่า


  • ทำไมต้องมีแบรนด์องค์กรหรือหน่วยงานนี้ขึ้นมา

  • องค์กรรัฐนั้นๆ ต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายใด ?

  • องค์กรรัฐนั้นๆ สามารถให้คุณค่าอะไร ?

  • ตัววัดผลที่สำคัญของหน่วยงานเราด้านแบรนด์คืออะไร ?


ในประเทศที่พัฒนาแล้วการทำให้แบรนด์หน่วยงานรัฐเข้าถึงประชาชน และภาคธุรกิจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และมีส่วนสำคัญในการนำพื้นฐานหลายๆ ด้านที่รัฐลงทุนก่อให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมต่อไป 


ตัวอย่างวันนี้เป็นหน่วยงานรัฐที่มีความสำคัญมากในการพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์

เรามาดูว่าแบรนด์องค์กรรัฐนี้ สร้างให้ประสบความสำเร็จจนเกิด Superfans ตามมาได้อย่างไร ? ติดตามชมกันเลยครับ


🧪 แสงซินโครตรอน คืออะไร ?        

เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมากในระดับสากลโดยเทคโนโลยีนี้เป็นการสร้างลำแสงที่มีความเข้มมากกว่าแสงจากดวงอาทิตย์หนึ่งล้านเท่า ทำให้สามารถนำลำแสงไปใช้ประโยชน์ได้ในการตรวจสอบและพัฒนานวัตกรรมในระดับโครงสร้างทางโมเลกุลซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญได้มากมาย อาทิ วัสดุศาสตร์, อาหารแห่งอนาคต, เทคโนโลยีไมโครชิป เป็นต้น


สิ่งใกล้ๆตัวเราที่พัฒนาขึ้นมาด้วยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนนี้มีมากมาย อาทิ วัสดุอลูมิเนียมที่บาง เบา ที่ใช้เป็นเคส imac , iphone ของ Apple , ส่วนผสมยาสีฟันที่มีคุณสมบัติเพิ่มโปรไบโอติค, ลำไยสกัดเข้มข้นที่นำไปทำเป็นอาหารเสริม, การวิจัยการหุงกระจกเพื่อบูรณะวัดพระแก้ว, การวิจัยการผลิตชิ้นส่วนและพัฒนาชิ้นช่วนรถยนต์ เป็นต้น


ปัญหาคืออะไร ? ทำไมองค์กรรัฐจึงต้องทรานส์ฟอร์มแบรนด์ 

ปัญหาแรก ที่พบคือรัฐบาลได้ลงทุนสร้างเครื่องนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรม แต่ภาคอุตสาหกรรมไม่รู้จัก และไม่เข้าใจประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้บริการการวิจัยปีละไม่เกิน 40 โครงการ


ปัญหาที่สอง ด้านภายในองค์กรคือทางสถาบันมีนักวิจัยที่มีความสามารถจำนวนมากแต่ยังขาดความเข้าใจความต้องการในมุมมองของภาคอุตสาหกรรม และนักวิจัยยังรู้สึกว่าหน้าที่หลักคือการวิจัยตามโจทย์เท่านั้น และรู้สึกว่าหน้าที่ของการเข้าใจภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่หน้าที่โดยตรง จึงทำให้เกิดภาวะต่างคนต่างทำงานขาดเป้าหมายร่วมเชิงคุณค่าหลักองค์กร 


กำหนดวัตถุประสงค์หลักให้ชัดเจนว่าต้องบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง..

จากการวิเคราะห์จากปัญหาของหน่วยงานนั้นพบว่า การทรานส์ฟอร์มแบรนด์ต้องทำทั้ง Internal Branding ไปพร้อมกับ External Branding จึงกำหนดวัตถุประสงค์การทำงานไว้ดังนี้

  1. เพื่อทำให้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นที่รู้จัก, ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าใจประโยชน์มากยิ่งขึ้น

  2. เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมรู้สึกมีส่วนร่วมและเข้ามาใช้บริการของทางสถาบันเพิ่มมากขึ้น

  3. เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน



วิธีการทำงานในการทรานส์ฟอร์มแบรนด์เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ 

สิ่งจำเป็นสิ่งแรก คือการสร้างความมีส่วนร่วมของคนในองค์กรกับโครงการ Brand Transformation นี้ โดยต้องทำให้ทีมงานเข้าใจที่มา และความสำคัญของการสร้างแบรนด์องค์กรว่าเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและเกี่ยวกับนักวิจัยภายในอย่างไร ?


สิ่งที่ทำถัดมาเป็นขั้นตอนการวิจัยเพื่อค้นหาความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและศึกษาการรับรู้แบรนด์ของสถาบัน โดยทำการวิเคราะห์ Gap Analysis เทียบความคาดหวังกับการรับรู้ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นต้องการที่จะเห็นผลลัพธ์เชิงกรณีศึกษาที่ชัดเจน และต้องการความเข้าใจของเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่มากขึ้น


กลยุทธ์ในการจัดทำแบรนด์ทรานส์ฟอร์มนั้นเราใช้วิธีการแบบ Collaboration ที่ทำให้ผู้บริหารกระดับกลางมีส่วนร่วมในการคิดกลยุทธ์ร่วมกันกับที่ปรึกษาและผู้บริหารระดับสูง


แบรนด์จากเดิมชื่อสถาบันมักเรียกเป็นชื่อย่อว่า SLRI ซึ่งยากต่อความเข้าใจ จึงมีการพัฒนาชื่อให้สามารถสื่อสารได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า Synchrotron Thailand Central Lab   


และมีการสรุปวิสัยทัศน์เชิงคุณค่าทางจิตวิญญาณ์ให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจตรงกัน ว่าทำไม (Why ?) ถึงมีสถาบันเราขึ้นมา จึงมีการกำหนดคุณค่าที่เรียบง่ายว่า “Make Tomorrow Better”


การกำหนดแบรนด์ดีเอ็นเอ ที่ทำให้ทุกๆ แผนกในสถาบันมีจุดยึดเหนี่ยวร่วมกันว่า “Science Mate” หมายถึงตัวตนของเราคือเพื่อนคู่คิดทางวิทยาศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ


เมื่อกลยุทธ์แบรนด์ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยจึงมีการจัดกิจกรรม Internal Launch หรือการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อให้ทุกๆ คนในองค์กรเข้าใจทิศทางแบรนด์องค์กรของตน และเข้าใจว่าการสร้างแบรนด์ขององค์กรรัฐให้เข้าถึงภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อนำไปสู่การสร้างการเติบโตของประเทศต่อไปร่วมกัน


ขั้นตอนในปีที่ 2-3 เป็นขั้นตอน External Launch เป็นการจัดทำการสื่อสารไปยังภายนอกใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับกลยุทธ์แบรนด์ และจัดทำ Workflow การบริการใหม่ (New Service Design)


ความประทับใจคือการจัดงานครบรอบ 10 ปีของทางสถาบัน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเปิดงาน นอกจากนี้การสร้างแบรนด์ของสถาบันผ่านการสร้างเวทีท็อค ที่ทำให้เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว สนุก เข้าใจง่าย โดยมีการเชิญน้องเฌอปรางค์และอาจารย์เจษฎ์ มีกิจกรรมภายในให้ได้ร่วมเล่นเกมส์กัน โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก


สิ่งสำคัญที่สามารถถอดบทเรียนสำคัญสำหรับการทรานส์ฟอร์มแบรนด์หน่วยงานรัฐ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้เกิดแบรนด์ Superfans นั้นมีอะไรบ้าง ?


1. การใช้เครื่องมือการวิจัยที่มีประสิทธิภาพทำให้เข้าใจ Need และ  Unmet Need

ในการพัฒนาแบรนด์นั้น การวิจัยเชิงปริมาณไม่สามารถช่วยพัฒนากลยุทธ์ที่มีความลึกได้ดี เราจึงใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพที่เรียกว่า Future Lab Research สิ่งที่พบคือความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมนั้นมีหลายข้อ แต่ที่มีประเด็นสำคัญมากๆ ในระดับ Need และ  Unmet Need ดังนี้


Need : ความต้องการพื้นฐานคือการรู้ว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนคืออะไร ?

ผลลัพธ์ที่เป็นตัวอย่างจริงๆ เป็นอย่างไร ? เพื่อให้เห็นภาพการนำไปใช้มากยิ่งขึ้น


Unmet need ต่อการสร้างแบรนด์ คือ ความเป็นมิตร จริงใจ เข้าใจธุรกิจควบคู่กับความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าประเด็นนี้เป็นการสร้างแบรนด์ที่ต้องเน้นไปถึง Internal Branding จึงจะสามารถทรานส์ฟอร์มแบรนด์ได้ผลลัพธ์ที่ดี


2. Universal Brand Naming : การเรียกชื่อของหน่วยงานรัฐในหลายหน่วยงานนั้นเข้าใจยาก และ มักจะตั้งเป็นตัวอักษรย่อเต็มไปหมดจนยากที่กลุ่มเป้าหมายจะจำได้ และเข้าใจ ดังนั้นการการมีชื่อที่สามารถสร้างการจดจำการเรียกที่เข้าใจได้ทันทีก็มีผลต่อการสร้างฐานผู้ใช้งานในช่วงต้น กรณีนี้นอกจากตัวอักษาย่อ SLRI และ โลโก้ (ยังคงอยู่ตามกฎหมายไม่ไปรื้อใหม่) แต่การสร้างแบรนด์คือการสร้างชื่อเรียกประกอบควบคู่กันให้เข้าใจ จึงมีการเพิ่มชื่อประกอบ เป็น Synchrotron Thailand Central Lab ในโลโก้


3. Brand Spiritual Valueการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ทรงพลัง และต้องสอดคล้องกับภารกิจตามกฎหมายที่มีการจัดตั้งหน่วยงานนี้ แต่ปัญหาที่พบข้อความตามกฎหมายเข้าใจยาก และไม่มีพลังในการสื่อสารทั้งภายในภายนอก ทำให้ Why ขององค์กรไม่ได้ถูกสื่อสารอย่างมีแรงบันดาลใจ สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนนั้น มีการสกัดมาจาก Workshop โดยได้จิตวิญญาณว่าทำไมองค์กรนี้จึงควรดำรงอยู่ เราได้วิสัยทัศน์เชิงจิตวิญญาณว่า ที่เป็นประโยคที่ทรงพลัง “Make Tomorrow Better” คงไม่ต้องแปลนะครับ แต่ประโยคแค่นี้จำได้ทั้งองค์กร เข้าใจได้ทั้งองค์กรครับ


4. Brand DNA : การสร้างแบรนด์ดีเอ็นเอ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนด ซึ่งเกิดจากกระบวนการ Workshop แบบ Collaboration ที่ทีมบริหารระดับกลางและระดับบนเข้ามามีส่วนร่วม หลังจากที่ฟังข้อมูลวิจัยแล้วจึงออกไอเดียร่วมกัน จนได้ Key Words ที่ทรงพลังออกมาว่า Science Mate ซึ่งกลยุทธ์ข้อนี้สำคัญมากในการขับเคลื่อนแบรนด์ไปสู่การออกแบบการบริการที่เปลี่ยนไป โดย DNA นี้ส่งผลให้ทัศนคติในการทำงานของคนในองค์กรโดยเฉพาะทีมนักวิจัย เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ว่าการทำงานวิจัย เราต้องวางบทบาทเราเป็นเพื่อนคู่คิดของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าแค่รอรับโจทย์แต่มีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำและทำงานร่วมกัน


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการทรานส์ฟอร์มแบรนด์ :

Result  : 

1. ทีมงานภายในรู้สึกมีส่วนร่วมและเข้าใจทิศทางแบรนด์มากถึง 94.5%

2. ภาคธุรกิจเข้ามาใช้บริการการวิจัยเพิ่มขึ้นจากปีละ 40 โครงการ เป็น 400 โครงการขึ้นไป หรือมี  Performance เพิ่ม 1,000 % ภายในระยะ 3 ปี

3. อัตราการบอกต่อ (NPS) ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดของความเป็น Brand Superfans                สูงถึง 64.41 %

4. อัตราการกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดของความเป็น Brand Superfans สูงถึง 86%


สุดท้ายผลลัพธ์ในการสร้างแบรนด์ของภาครัฐ ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับประเทศ และส่งผลต่อการเติบโตของประเทศ จากโครงการที่ทำวิจัยร่วมเอกชนปีละ 40 โครงการ ขยับไปเป็น 400 โครงการต่อปีนั้น ลองคำนวณดูเราก็จะเห็นว่าย่อมส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอนครับ จริงไหม ?


ติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาด้านการพัฒนาแบรนด์ให้มีมูลค่าและทำให้ธุรกิจเติบโต ได้ที่

โทร. 063-3642492 (คุณโบว์)

อีเมล์ kanyarath.r@baramizi.co.th


ดู 32 ครั้ง
bottom of page